ขอเชิญเข้าร่วมโครงการจัดทำมาตรการควบคุมการระบายสารอินทรรีย์ระเหยจากโรงงานที่มีการใช้สารอินทรีย์ระเหยในปริมาณมาก

โครงการจัดทำมาตรการควบคุมการระบายสารอินทรีย์ระเหยจากโรงงานที่มีการใช้สารอินทรีย์ระเหยในปริมาณมาก
 
๑. หลักการและเหตุผล
          ด้วยปัจจุบันการพัฒนาอุตสาหกรรมได้เจริญเติบโตอย่างมากประกอบกับอุตสาหกรรมและชุมชนอยู่ใกล้ชิดและหนาแน่นเพิ่มมากขึ้นทำให้การระบายมลพิษของโรงงานอาจส่งผลกระทบต่อชุมชนได้โดยง่าย ดังนั้นโรงงานจึงต้องประกอบกิจการด้วยความระมัดระวังมากขึ้น มีความรับผิดชอบต่อสังคมอันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่โรงงานต้องกำกับดูแลตนเอง ซึ่งในปัจจุบันกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้กำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานมีสารอินทรีย์ระเหย (VOCs) เพียงสองสารคือ ไซลีนและครีซอล จากการผลิตทั่วไป
          ผลจากการประเมินการปลดปล่อยมลพิษ (PRTR) ในจังหวัดระยอง พบว่าการใช้สารอินทรีย์ระเหยทั่วไปในโรงงานเพื่อล้างชิ้นงานและใช้เป็นตัวลำละลายโดยเฉพาะทินเนอร์ ซึ่งมีองค์ประกอบสารอินทรีย์ระเหยที่สำคัญได้แก่ อะซิโตน (Acetone) โทลูอีน (Toluene) ไซลีน (Xylene) เมททิลเอททิลคีโตน (Methyl Ethyl Ketone) มีปริมาณการปลดปล่อยที่สูงเมื่อเทียบกับแหล่งกำเนิดอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมาตรฐานการระบายมลพิษอากาศยังไม่ครอบคลุมทุกสารอินทรีย์ เพื่อให้โรงงานที่ใช้สารเหล่านี้ในปริมาณมากเกิดการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการประกอบกิจการ จึงต้องมีการกำหนดค่าการเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานจำแนกรายอุตสาหกรรมเพื่อกระตุ้นให้อุตสาหกรรมเกิดความตระหนักและลดการปลดปล่อย
          อุตสาหกรรมที่มีการใช้สารอินทรีย์ระเหยในปริมาณมากมักใช้ในกิจกรรมพ่นสี ทาสี พิมพ์สี ล้างชิ้นงาน ซ่อมบำรุง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมการพิมพ์ เป็นต้น

๒. วัตถุประสงค์
          1) เพื่อจัดทำแนวทางการควบคุมสารอินทรีย์ระเหยจากอุตสาหกรรมยานยนต์
          2) เพื่อกำหนดค่าปริมาณสารอินทรีย์ระเหยที่เจือปนในอากาศที่ระบายจากอุตสาหกรรมยานยนต์
          3) เพื่อจัดทำแนวทางการควบคุมสารอินทรีย์ระเหยจากอุตสาหกรรมการพิมพ์
          4) เพื่อกำหนดค่าปริมาณสารอินทรีย์ระเหยที่เจือปนในอากาศที่ระบายจากอุตสาหกรรมการพิมพ์

๓. กลุ่มเป้าหมาย
          สถานประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์และสถานประกอบการอุตสาหกรรมการพิมพ์ ในพื้นที่ ดังนี้
          1) ภาคกลาง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชัยนาท นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี อ่างทอง และอุทัยธานี
          2) ภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้ว

๔. หน่วยงานรับผิดชอบ
          กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินงาน